ASEAN DIARY








           ภาพประวัติศาสตร์ประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านมาแล้ว 46 ปี (1967-2013) คือภาพที่ ฯพณฯ นาซิโซ รามอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์;
ฯพณฯอาดัม มาลิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย; ฯพณฯ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย; ตุน อับดุล ราซัค บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย; และฯพณฯ เอส ราชา รัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ร่วมลงนามใน“ปฏิญญาอาเซียน” หรือ “ASEAN Declaration” ที่กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเต็มว่า Association of Southeast Asian Nations เรียกย่อว่า ASEAN (อาเซียน)


“ปฏิญญา ASEAN” ลงนามกันที่กรุงเทพ จึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า Bangkok Declaration หรือ “ปฏิญญากรุงเทพ” ห้าประเทศผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียนคำนึงว่าทุกประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน มีปัญหาร่วมกันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อมั่นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสามัคคีภาพระหว่างกันให้มั่นคงแนบแน่นต่อไป ทั้งห้าประเทศปรารถนาที่จะวางรากฐานเพื่อการทำงาน ร่วมกันสร้างสรรค์ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมโนสำนึกแห่งความเป็นประเทศที่เท่าเทียมเสมอภาคกัน เป็นมิตรร่วมสมาคมกัน ร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่พร้อมกัน คือ

สันติภาพ ความก้าวหน้า ความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรืองอันยั่งยืน

ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนทั้งห้ารำลึกว่าโลกเรานั้นต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน อุดมคติเรื่องสันติภาพ เสรีภาพ ความเป็นธรรมในสังคม และ ความสมบูรณ์พูนสุขทางเศรษฐกิจนั้น จะบรรลุผลอย่างดีที่สุดได้ก็ด้วยการสร้างเสริมความเข้าใจระหว่างกัน การเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน มีความร่วมมือกันอย่าง มีคุณประโยชน์ในหมู่มิตรประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมิตรประเทศร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานั้นมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นความเชื่อมโยงต่อกันมาเนิ่นนานแต่บุราณกาลแล้ว
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ ไทย ได้พิจารณาว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสวนแบ่งในการรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างสันติ ให้ภูมิภาคมีความปลอดภัยจากการแทรกแซงที่อาจมาจากภายนอกภูมิภาคไม่ว่าจะในรูปแบบใด ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องเอกลักษณ์แห่งชาติตามอุดมการณ์และจิตวิญญาณแห่งประชาชาติของแต่ละประเทศ
ประเทศผู้ให้กำเนิดอาเซียนทั้งห้ายืนยันอย่างหนักแน่นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ว่า บรรดาฐานทัพของต่างชาติที่คงอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานั้น ถือเป็นการอยู่อย่างชั่วคราว และอยู่ด้วยความเห็นชอบจากประเทศเจ้าภาพ และจะมิได้อยู่เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการแทรกแซงเอกราช และเสรีภาพของรัฐในภูมิภาค ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม จะไม่เป็นการขัดขวางกระบวนการหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศที่เป็นไปอย่างเป็นระบบระเบียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN จึงถือกำเนิดขึ้นจากการลงนามในคำปฏิญญาที่กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 หรือ ค.ศ. 1967 พันเอกพิเศษ ดร. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในสมัยนั้น คือบุคคลสำคัญที่เริ่มความคิดก่อตั้งสมาคมอาเซียน ท่านคิดถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันจะต้องรวมตัวกัน ร่วมมือกันเป็นสมาคมประชาชาติที่ร่วมกันพัฒนา สร้างสานผลประโยชน์ และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง ท่ามกลางบรรยากาศแห่งสันติสุข และความสงบร่มเย็นร่วมกัน 


ความคิดแรกเริ่มมาจาก ดร.ถนัด คอมันตร์ประเทศต้นความคิด คือ ราชอาณาจักรไทย


  • อาเซียนเกิดขึ้นมาเพื่อความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อเร่งความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และเพื่อพัฒนาการทางวัฒนธรรม อาเซียนมีเป้าหมายในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง เคารพในความยุติธรรม ยึดถือกฎหมายเป็นแบบแผนแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน และยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ

  • อาเซียนต้องการสร้างความร่วมมือช่วยเหลือต่อกันและกันในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  เทคนิค  วิทยาศาสตร์ และการบริหารงานด้านต่างๆ ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความช่วยเหลือกันในเรื่องหลากหลาย การศึกษา วิจัย ฝึกอบรมวิชาชีพและเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเกษตร การค้า และอุตสาหกรรม รวมทั้งการคมนาคม สื่อสาร เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองอาเซียนทั้งหมด ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยให้มากขึ้นเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาค และในโลก
กาลเวลาผ่านไป ความสำเร็จของอาเซียนปรากฏต่อประชาคมโลก มิตรประเทศในภูมิภาคเดียวกันเริ่มให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมสมาคมด้วย หลังจากภาวะการเมืองโลกผันแปรไปในทางสร้างสรรค์ความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างประเทศโดยปราศจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองอาเซียนจึงได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ประเทศที่ 6 คือ บรูไน ดารุสซาลาม ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) หลังจากอาเซียนเกิดได้ 17 ปี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน ลำดับที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) สมาชิกประเทศที่ 8 และ 9 คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหภาพพม่า (ปัจจุบันเรียกชื่อประเทศว่า “สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า”) เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน วันเดียวกัน คือวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)ราชอาณาจักรกัมพูชาที่เพิ่งเข้าสู่ภาวะแห่งความสงบในบ้านเมือง ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศท้ายสุด ลำดับที่ 10 ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999)

  • รัฐสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ “อาเซียน” ทั้ง 10 ประเทศมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์เป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มประเทศที่อยู่บนภาคพื้นทวีป คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม กับกลุ่มที่ตั้งอยู่บนภาคพื้นมหาสมุทร คือมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์
  • อาเซียนมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ มีภาษาและการนับถือศาสนาที่ต่างกัน ทั้งศาสนาอิสลาม ฮินดู พุทธ และ ศาสนาคริสต์หลายนิกาย แต่อาเซียนก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และสื่อสารกันโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของอาเซียน

กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)
สมาชิกทั้ง 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมทางแห่งความร่วมมือระหว่างกันมานานถึง 41 ปี จนในที่สุดเห็นพ้องต้องกันให้มี “กฎบัตรอาเซียน” เป็นเอกสารหลักอย่างเป็นทางการ เพื่อใช้เป็นข้อตกลงในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของอาเซียน
กฎบัตรอาเซียน หรือ ASEAN Charter มีความสำคัญทำนองเดียวกันกับกฎบัตรสหประชาชาติ
แต่ใช้เป็นหลักปฏิบัติกันเฉพาะในหมู่สมาชิก 10 ประเทศ ขณะที่กฎบัตรสหประชาชาติใช้กับสมาชิกองค์การสหประชาชาติที่ครอบคลุมประเทศสมาชิกทั้งโลก
อาเซียน เกิดจากความคิดและการทำงานของรัฐบาลของประเทศสมาชิก แต่อาเซียนพัฒนามาถึงวันนี้ด้วยทัศนะที่ปรับเปลี่ยนไป โดยต้องการให้ประชาชนพลเมืองทั้งสิบประเทศมีบทบาท มีส่วนร่วมมากขึ้น และให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ กฎบัตรอาเซียนกำหนดให้อาเซียนเป็นของประชาชน ให้ประชาชนทั้งสิบชาติไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดระหว่างกัน และ แลกเปลี่ยนทำนองเดียวกันกับผู้นำรัฐบาลของประเทศทั้งสิบ ร่วมกันสร้างสังคมให้เป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า “ประชาคมอาเซียน”  ซึ่งตั้งอยู่บนสามเสาหลักที่จะค้ำจุนสังคมทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน คือ : 

  • เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง แยกเรียกว่า :“ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน”
  • เสาหลักทางเศรษฐกิจ แยกเรียกว่า :“ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
  • เสาหลักแห่งสังคมและวัฒนธรรม แยกเรียกว่า :“ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน”
  • ทั้งสามประชาคมที่แยกเรียกตามเนื้อหาของความร่วมมือและความสัมพันธ์นี้ เรียกรวมกันว่า :“ประชาคมอาเซียน

ประชาคมอาเซียน คือความฝันที่กำลังก้าวสู่ความเป็นจริง นับจากนี้ต่อไป ประชาชาติอาเซียน จะค่อยๆหลอมรวมความรู้สึกนึกคิดของการเป็นประชาคมเดียวกัน ท่ามกลางความงดงามของความแตกต่างหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ปี พ.ศ. 2558 หรือ ค.ศ. 2015 เป็นปีที่อาเซียนกำหนดเป้าหมายว่าการสร้าง “ประชาคมอาเซียน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีก่อตั้ง คือปี 2510/1967 ... ผ่านปีประกาศใช้กฎบัตรอาเซียน คือปี 2551/2008 ... จะปรากฏเป็นประชาคมอาเซียนอย่างชัดเจนจริงแท้
ปี 2558/2015 คือปีแห่ง “ประชาคมอาเซียน”


ที่มา : http://guru.truelife.com/content/75292 วันที่ 27 ธันวาคม 2555 เวลา: 9.58 น.




1 ความคิดเห็น: